อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของการดูแลสุขภาพตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต การรักษาโรคด้วยยา เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมไปถึงเทคโนโลยีการรักษาที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่เว้นถิ่นทุรกันดารด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งในปี 2022 นี้ จะมีแนวโน้มการเกิดเทรนด์เทคโนโลยีดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าสนใจมากมาย มาดูกันว่า จะมีอะไรที่น่าสนใจและมีกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างไรกันบ้าง
รวม 10 เทรนด์เทคโนโลยีสุขภาพที่น่าจับตามองปี 2022
1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (Artificial Intelligence – AI)
หากไม่พูดถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (AI) อาจจะถือว่าตกเทรนด์ไปเลยก็ได้ เพราะในปี 2022 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ Covid-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก AI เป็นเครื่องมือเสริมในการรักษาและวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว จากอัลกอริทึมของ AI ที่สามารถประมวลผลการสแกนด้วยเอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ AI ยังมีประโยชน์ในการช่วยจัดการในเรื่องของงานเอกสารและข้อมูลต่างๆ ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระหน้างาน การวิจัยเวชภัณฑ์ หรือหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่ช่วยลดต้นทุน หรือลดความเสี่ยงในการจ่ายยา การรายงานผลและวินิจฉัยโรคต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์สามารถมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ประโยชน์ของ AI จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน แต่การใช้งานเทคโนโลยีของทั่วโลกนั้นจะยังเป็นการใช้ที่แพทย์และ AI ทำงานร่วมกันเท่านั้น นอกจากนี้เรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นที่กังวลของสถานพยาบาลหลายแห่งทั้งในปี 2022 นี้เองและในอนาคตต่อไปด้วย ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไอทีหรือบริษัทที่เกี่ยวข้อง เข้ามาจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย เพื่อให้การรักษาสุขภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย
2. การแพทย์ทางไกล ห่างกันขนาดไหนก็รักษาได้ทันท่วงที (Telemedicine together with Internet of Things/Wearables)
การระบาดใหญ่ของ Covid-19 ทำให้ ‘การแพทย์ทางไกล’ หรือ ‘Telemedicine’ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยจากการสำรวจของ Deloitte พบว่าในช่วงเดือนแรกของการระบาดใหญ่ มีการใช้บริการ Telemedicine เพิ่มขึ้นทั่วโลก จาก 1% เป็น 5% และล่าสุดพบว่าที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้บริการแพทย์ทางไกลสูงถึง 43.5% การแพทย์ทางไกลทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้แบบ real-time และไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid-19 ให้กับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยตัวช่วยสำคัญอย่าง ‘เทคโนโลยี’ เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ต การสร้างแอปพลิเคชัน รวมถึงโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ปัจจุบันพบว่าในสถานพยาบาลบางแห่งได้เพิ่มศักยภาพในการทำงานโดยใช้ Telemedicine ร่วมกับการวินิจฉัยที่ผสานเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้การทำงานและการบริการเป็นไปอย่างฉับไวและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีแอปพลิเคชันทางการแพทย์ในหลากหลายสาขาเกิดขึ้นอย่างมากมาย เพราะเรื่องการพบแพทย์กลายเป็นเรื่องง่ายและไม่ต้องรอคิวนานอีกต่อไป ผู้ป่วยเพียงแค่ทำการนัดหมายผ่านแอปพลิเคชัน จากนั้นก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านทางแอปพลิเคชัน ทางวิดีโอคอล หรือทางสมาร์ตโฟนได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้วิธีดังกล่าวยังรองรับการตรวจรักษาหลากหลายโรคอีกด้วย เช่น โรคทั่วไป โรคเฉพาะทาง และโรคทางจิตเวช
3. การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare Cybersecurity)
แน่นอนว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาที่ก้าวกระโดด ทำให้วงการการแพทย์และการดูแลสุขภาพ เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน แต่เรื่องที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้บริการการดูแลสุขภาพทางไกลมากขึ้น ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์มากขึ้นด้วยเช่นกัน
หลังพบสถิติการถูกละเมิดข้อมูลเวชระเบียนของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 10 ปีล่าสุด ที่แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากมายแค่ไหน ทำให้การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare Cybersecurity) เป็นสิ่งสำคัญมากในปีนี้ โดยบริษัท และ สถานประกอบโรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการใช้บริการ บริษัทที่เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ รวมทั้งให้ความรู้ด้านความปลอดภัยด้านไซเบอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกล้วงข้อมูลจากผู้ไม่หวังดีได้
4. จีโนมมนุษย์และยาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine and Genomics)
เมื่อหลายปีก่อน เหล่านักวิจัยผุดโปรเจ็กต์ “จีโนมมนุษย์” ซึ่งเป็นโครงการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมมนุษย์เกือบ 25,000 ยีนใน DNA ของคน โดยใช้เวลานานกว่า 13 ปีด้วยงบประมาณสูงกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เกิดการพัฒนาวิทยาการที่ซับซ้อนในการถอดรหัสยีน และยังทำให้แพทย์ทราบว่าคนไข้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะต่างๆ จากการตรวจยีนด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย
และด้วยเทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์และพันธุศาสตร์ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถนำมาใช้ศึกษา วิจัย สาเหตุและกลไกของโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรม และประยุกต์การวินิจฉัยโรค พัฒนายา และวิธีรักษาแบบใหม่ โดยต้องมีการนำข้อมูลทางพันธุกรรมและจีโนมมาประกอบในการดูแลและรักษาผู้ป่วยเฉพาะบุคคล เพื่อให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
ดั่งเช่นศูนย์ดูแลสุขภาพ EMPA จากสวีเดน ใช้ระบบ AI และซอฟท์แวร์จำลองสถานการณ์เพื่อคาดการณ์ปริมาณยาแก้ปวดเฉพาะบุคคล หรือบริษัทยา Novo Nordisk จับมือกับ Glooko บริษัทดิจิทัลด้านสุขภาพ ผลิตเครื่องมือตรวจสอบโรคเบาหวานเฉพาะบุคคล ซึ่งให้คำแนะนำเฉพาะบุคคลทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเจ็บป่วย โดยวัดค่าจากการอ่านค่าน้ำตาลในเลือดและปัจจัยอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจง
ซึ่งในปี 2022 และในอนาคต อาจมีการใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์และพันธุศาสตร์เพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลมากขึ้น ตามปัจจัยด้านพันธุกรรมนั่นเอง
5. คู่เสมือนดิจิทัล (Digital Twins and Simulations)
คู่เสมือนดิจิทัล (Digital Twins) มีบทบาทสำคัญในหลายๆ วงการ เนื่องจากเป็นแบบจำลองเสมือนของวัตถุทางกายภาพที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีหลายสาขาทั้ง AI Algorithm, ระบบคลาวด์, ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะแสดงรายละเอียดคุณสมบัติเกือบเทียบเท่าวัตถุจริง เพื่อประเมินคุณลักษณะเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในด้านเทรนด์เทคโนโลยีสุขภาพของปี 2022 จะต้องได้ยินคำว่า “ผู้ป่วยเสมือนจริง” อย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ทดลองการรักษาจากระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย โดยไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง
ยกตัวอย่างที่เห็นชัด คือ โครงการ Living Heart ที่เปิดตัวในปี 2014 เพื่อระดมทุนในการสร้างโอเพ่นซอร์ส คู่แฝดหัวใจมนุษย์ หรือโครงการ Neurotwin ของสหภาพยุโรป ที่ทดลองและวิจัยการทำงานร่วมกันของสนามไฟฟ้าในสมอง เพื่อนำไปสู่หนทางการรักษาภาวะอัลไซเมอร์ในอนาคต
6. เทคโนโลยีชีววิศวกรรม (Bio Convergence)
หากนำเรื่องของวิศวกรรมมารวมกับการแพทย์ จะเกิดเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างมาก โดยในปี 2022 และในอนาคต เทคโนโลยีชีววิศวกรรม (Bio convergence) จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อย่างแน่นอน เนื่องจากนำการวิจัยทางการแพทย์ในห้องทดลอง มาผสมผสานกับเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรม ผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่ทันต่อสถานการณ์โรคต่างๆ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าว ยังสามารถผลิตนวัตกรรมด้านการรักษาโรคลึกถึงขั้นเซลล์และ DNA ด้วย เช่น เครื่องพรินเตอร์ 3 มิติที่สามารถผลิตอวัยวะทดแทนได้ หรือสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวของในด้านการแพทย์ เช่น ด้านพันธุวิศวกรรม เพื่อลดการเกิดเซลล์เสื่อมสภาพที่จะมีผลต่อการเกิดภาวะโรคร้ายต่างๆ ได้นั่นเอง ซึ่งนั่นจะเป็นความหวังในการดูแลสุขภาพและเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคได้มากขึ้นอีกด้วย
7. เทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงสามมิติ (Augmented Reality, Virtual Reality, Mixed Reality in Medical)
ในอดีต เทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงสามมิติ หรือที่รู้จักกันว่า วีอาร์ (VR) จะใช้ในด้านยานยนต์ ความมั่นคง หรือการแพทย์ แม้จะเข้าสู่วงการเกมหรือวงการบันเทิงหลังยุค 2000 เป็นต้นมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพในด้านการรักษาสุขภาพด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ วีอาร์ ช่วยในเรื่องการรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ทำกายภาพบำบัด หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการสร้างกิจกรรมใหม่ๆ โดยไม่รู้จักเบื่อ หรือบุคลากรทางการแพทย์นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการทดสอบทักษะด้านความแม่นยำและสติปัญญาอีกด้วย เช่น ประเทศแคนาดา ได้นำ วีอาร์ ไปใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้าน หรือในสหรัฐฯ นำไปใช้ในการฟื้นฟูสภาพจิตใจหรือรักษาผู้ป่วยทางจิตได้ ซึ่งในปี 2022 เทคโนโลยีวีอาร์ จะมีการพัฒนาและส่งเสริมในด้านการแพทย์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการวิจัยในการรักษาในอนาคต
8. การแพทย์จำเพาะบุคคล (Personalized and Precision Healthcare)
การแพทย์จำเพาะบุคคล เป็นอีกวิธีในการวินิจฉัยสุขภาพโดยแพทย์ใช้วิธีที่ดีที่สุดตามหลักพื้นฐานทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะวินิจฉัย จ่ายยา หรือแนะนำการดูแลสุขภาพที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียงในการรักษา และวิธีดังกล่าวมักใช้เป็นแนวทางในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยมากกว่า 100 โรค
ที่สำคัญ การแพทย์เฉพาะบุคคล ยังช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพองค์รวมจากความหลากหลายทางพันธุกรรม เช่น หญิงสาวรายหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม แม้ตรวจสอบเวชระเบียนของคนในครอบครัวไม่มีใครป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่เธอกลับไม่เคยตรวจสุขภาพแถมพบความผิดปกติที่ยีนจุดหนึ่ง หากเธอเข้ารับการตรวจทางพันธุกรรม แพทย์อาจสามารถวินิจฉัย รักษา หรือจ่ายยาตามความเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของเธอได้อย่างรวดเร็วก็ได้ ฉะนั้น การแพทย์จำเพาะบุคคล อาจเป็นหนึ่งในเทรนด์สุขภาพที่มาแรงในปี 2022 ด้วยผลการวิจัยที่มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการดูแลสุขภาพในอนาคตได้
9. เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์การแพทย์ 3 มิติ (3D Bioprinting Technology)
การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นหนึ่งในการรักษาภาวะและโรคต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2022 และในอนาคต เวชศาสตร์การฟื้นฟู โดยเฉพาะการปลูกถ่ายอวัยวะจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังจากมีเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น คาดว่าในปี 2027 มูลค่าการพิมพ์ทางการแพทย์ 3 มิติ ทั้งวัสดุ ฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ จะสูงขึ้นมากกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ ทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์การพิมพ์ทางการแพทย์ 3 มิติจะมีความน่าเชื่อถือ และเข้าถึงโอกาสมากขึ้น ด้วยวัสดุและระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ลดต้นทุนและเวลาในการผลิตรากฟันเทียมที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือขาเทียมแบบไบโอนิคที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น หรือการออกแบบเครื่องมือผ่าตัด และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กำหนดเองหรือเฉพาะบุคคล ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น
10. การบริโภคในตลาดการแพทย์ (Consumerism in the Medical Market)
ปัจจุบัน การแข่งขันในอุตสาหกรรมทางการแพทย์มีความเข้มข้นสูงมาก โดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพใช้จุดเด่นในด้านต่างๆ ทั้งศักยภาพการรักษา บุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่เว้นแม้กระทั่งการให้บริการที่ประทับใจ ซึ่งพวกเขาล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อขายบริการให้กับผู้ป่วย (หรือลูกค้า) หากผู้ให้บริการเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของเป้าหมาย นั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจดูแลสุขภาพที่เติบโตอย่างยั่งยืน
เว็บไซต์ tateeda.com คาดการณ์ว่า แนวโน้มการบริโภคด้านการดูแลสุขภาพในปี 2022 จะแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากสินค้าและบริการทางการแพทย์จะถูกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และกลุ่มเป้าหมาย (ผู้ป่วย) เข้าถึงง่ายเพียงปลายนิ้ว ทั้งการตรวจสอบราคา เปรียบเทียบ หรือจองบริการทางการแพทย์ผ่านทางออนไลน์ เช่น ในสหรัฐอเมริกา สามารถหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากแบรนด์ชื่อดังบนแพลตฟอร์ม Walmart หรือ Amazon ได้แล้ว และในอนาคต บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดูแลสุขภาพ จะเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือ 10 เทรนด์เทคโนโลยีสุขภาพที่น่าจับตามองในปี 2022 เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยในเรื่องการรักษาสุขภาพ และการเข้าถึงในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วย หรือบ่งชี้วิธีการรักษา โดยเฉพาะสถานการณ์ Covid-19 เทคโนโลยี AI มีบทบาทสำคัญต่อการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงที ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี