“เพอเซ็ปทรา” จับมือ “ศิริราช” ร่วมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อรังสีวินิจฉัย ยกระดับการแพทย์ไทยสู่เวทีโลก
บจก. เพอเซ็ปทรา ขานรับนโยบายระบบการรักษาทางไกล (Tele Medicine) และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical hub) ของเอเชีย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพัฒนาและผลักดันการใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อรังสีวินิจฉัยในทุกโรงพยาบาล พร้อมทั้งยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ
ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุม 1 ตึกอำนวยการชั้น 3 รพ.ศิริราช โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คุณสุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ คุณชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบที่ใช้งานจริง ลดปัญหาการขาดแคลนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้แพทย์ทำงานได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมด้วย รศ.นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา รศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี รองหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา และ ดร. วราสิณี ฉายแสงมงคล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หัวหน้าทีมวิจัยในโครงการ และคณะผู้บริหารของทั้งสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน
นางสาวสุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด กล่าวว่า พิธีลงนามในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการนำความเชี่ยวชาญทางการแพทย์มาผนวกกับความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในการทำให้สาธารณสุขไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยการที่เริ่มต้นจากภาพเอกซเรย์ทรวงอกนั้นเป็นจุดที่เหมาะสมเพราะมีจุดเจ็บปวด (Pain point) ที่ชัดเจน เนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรค ปอดอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่ติดอันดับที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเกือบทุกปี แต่จำนวนผู้แพทย์เชี่ยวชาญที่ช่วยคัดกรองโรคนั้นยังขาดแคลนทั้งในประเทศไทยและประเทศแถบอาเซียนมาตลอด ดังนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับความเชี่ยวชาญของกลุ่มแพทย์รังสีที่มีประสบการณ์จะเป็นส่วนสำคัญที่มาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้มีประสิทธิภาพที่ดีนั้นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ พร้อมทั้งข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพมาผนวกกับความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และ บิ๊กดาตา (Big Data) ที่ได้พัฒนาและส่งมอบระบบปัญญาประดิษฐ์ให้แก่บริษัทชั้นนำในประเทศไทยหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเทเลคอม บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ และหน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วยงานมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ทำให้เพอเซ็ปทราเป็นผู้มีประสบการณ์การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ และบูรณาการในหลากหลายอุตสาหกรรม ที่ส่งมอบงานให้ในระบบในองค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise level) ที่มีความซับซ้อนและ ความปลอดภัยสูงมาโดยตลอด
ในปี 2561 เพอเซ็ปทราได้พัฒนา อินเสป็คทรา ผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ขึ้นมาจากการทำงานร่วมกันของระบบปัญญาประดิษฐ์หลายระบบ อาทิ การคัดกรองภาพถ่ายที่ใช้งานไม่ได้ (Defective image screening) การแปลงผลรายงานแพทย์ (Medical report analysis) การปรับภาพก่อนการวินิจฉัย (Pre-processing image) และการวินิจฉัย (Diagnosis) ด้วยเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์แบบการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) ที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ถึง 121 ชั้น ขึ้นจากภาพรังสีทรวงอกจำนวนกว่า 500,000 ภาพ ทำให้สามารถคัดกรองโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกได้ทั้ง 14 สภาวะเสมือนการอ่านผลของแพทย์รังสี ทั้งนี้แพทย์สามารถเข้าถึงการบริการได้ง่าย ๆ ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บแอพลิเคชันที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงถึง 3 ชั้น ซึ่งระบบดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) บริษัทในเครือของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
คณะแพทย์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาและวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงเกิดความร่วมมือเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอด และนำองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์มาพัฒนาให้ก่อเกิดคุณประโยชน์แก่สาธารณสุขของประเทศไทยในวงกว้าง ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดให้ระบบดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมกับประชากรและระบบสาธารณสุขในประเทศไทยและประเทศแถบอาเซียน อีกทั้งยังมุ่งสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างบุคคลากรของทั้งสองฝ่ายและพัฒนาต่อยอดเพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์ และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก หรืออาจรวมไปถึงการแพทย์ด้านอื่น ๆ ด้วย
ดังนั้นจากความร่วมมือดังกล่าว ทางบริษัทคาดว่าจะเปิดตัวแอพลิเคชันให้โรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน รวมถึงผู้ให้บริการรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ใช้ได้ในต้นปี 2563 และมีแนวคิดที่จะขยายความร่วมมือไปสู่การแพทย์ด้านอื่นด้วย เพื่อยกระดับสาธรรณสุขไทยโดยรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)