แค่พูดชื่อมะเร็งเต้านมสาว ๆ ก็อาจจะเริ่มหวั่นใจและนึกถึงความร้ายแรงของโรคเนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิงไทยและก็ยังเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตหญิงสหรัฐเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด แต่ถึงอย่างไรตามความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะถูกลดลงไปหากเราตรวจพบไวขึ้น
การตรวจหามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยตนเองทุก ๆ เดือน การตรวจโดยเจ้าหน้าที่ (Clinical Breast Examination) ตรวจอัลตราซาวด์ และตรวจแมมโมแกรมซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำที่สุดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการตรวจแมมโมแกรมก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากไม่ใช่ทุกช่วงอายุจะเหมาะกับการตรวจแมมโมแกรมไปเสียทีเดียว จึงอาจจะต้องทำการตรวจอัลตราซาวด์ควบคู่ไปด้วยหรือใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย แต่ถึงอย่างนั้นเองเราก็ควรตรวจด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่มีอาการเพราะอย่าลืมว่า ยิ่งตรวจเร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายได้ เรามาดูกันดีกว่าว่าที่บอกว่าเร็ว ต้องเร็วแค่ไหนกัน
ต้องตรวจไวแค่ไหนถึงจะรักษาทัน
โดยทั่วไปเราควรจะตรวจเช็คหาอาการผิดปกติก่อนที่ร่างกายจะอาการใดๆแสดงออกมา การที่เราหาความผิดปกติเจอก่อนนั้นก็มีโอกาสสูงว่าจะเป็นเพียงแค่ระยะแรกเริ่ม ทำให้เรามีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นหากถามว่าต้องตรวจไวแค่ไหนถึงจะทัน คำตอบก็คงจะเป็นตรวจไวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผู้หญิงต่างวัย ต่างความเสี่ยง ก็จะมีวิธีการตรวจคัดกรองที่ต่างกันออกไป อย่างเช่น ในผู้หญิงที่ครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม ก็อาจจะต้องเข้ารับการตรวจด้วยแมมโมแกรมเร็วขึ้นกว่าผู้หญิงที่ครอบครัวไม่มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม
จากข้อมูลศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำแนวทางการตรวจคัดกรองไว้ดังนี้
แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป
ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้งและตรวจโดยแพทย์ทุก 3 ปี
ผู้หญิงอายุ 40 – 69 ปี
ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ตรวจโดยแพทย์ทุก 1 ปี และทำแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี ผู้ที่มีครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทําการตรวจด้วยแมมโมแกรมตั้งแต่อายุที่ครอบครัวหรือญาติ สายตรงเป็นลบออก 10 ปี เช่น คุณแม่ตรวจเจอมะเร็งเต้านมตอนอายุ 45 ปี ท่านควรเริ่มตรวจตอนอายุ 35 ปี
ผู้หญิงอายุ 70 ปีขึ้นไป
ในกลุ่มนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเหมาะสมเป็นรายบุคคล
การตรวจมะเร็งต้วยตนเองเราอาจจะไม่รู้แน่ชัดเท่ากับการตรวจแมมโมแกรม แต่เมือใดก็ตามที่เราพบความผิดปกติใด ๆ จะเจ็บหรือไม่เจ็บ เราไม่ควรชะล่าใจว่าคง ไม่ใช่หรอก ไม่เห็นเจ็บเลย เพราะอย่าลืมว่ามะเร็งมักจะไม่เจ็บ แต่ถ้าคลำเป็นก้อน จับแล้วเจ็บ นั่นอาจจะซีสก็ได้ ในบรรดาก้อนที่เต้านมนั้น มีโรคกลุ่มหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. ซีสเต้านม 2. เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย) 3. มะเร็งเต้านม ดังนั้นไม่ว่าเราจะเจอความผิดปกติอะไรก็ตามให้เรารีบไปพบแพทย์ อย่าลืมว่ายิ่งเจอไว ยิ่งรักษาหายได้
ทำไมต้องตรวจแมมโมแกรม
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือที่เรารู้จักคุ้นหูกันในชื่อของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) และหลาย ๆ โรงพยาบาลในประเทศไทยออกมาบอกเองเลยว่าการตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถตรวจหาความผิดปกติภายในเต้านม เช่น ก้อนเนื้อหรือแม้แต่หินปูนขนาดเล็กที่อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านม ปริมาณรังสีน้อยมาก และใช้เวลาไม่นาน
ตรวจด้วยแมมโมแกรมอย่างเดียวเพียงพอไหม
แม้ว่าใคร ๆ ต่างก็ยกให้แมมโมแกรมเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน แต่การตรวจด้วยแมมโมแกรมเองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง จากแนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจะเห็นได้ว่าการตรวจแมมโมแกรมจะเริ่มใช้ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 40 ปีแต่มีความเสี่ยง เนื่องจากการตรวจแมมโมแกรมในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปีนั้นอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้สูงและนำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็นได้เพราะผู้หญิงที่อายุน้อยมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่าจึงอาจจะทำให้เนื้อเยื่อไปบังมะเร็งหรือเห็นผิดพลาดจากเนื้อดีกลายเป็นมะเร็งได้นั่นเอง แพทย์จึงมักแนะนำให้มีการตรวจด้วยวิธีการอัลตราซาวด์ทดแทนหรือทำควบคู่กับแมมโมแกรม เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนขึ้น หรือแพทย์อาจจะนำ AI เข้ามาช่วยในการหาความผิดปกติจากภาพ อย่างในปัจจุบันได้มีการนำ AI สัญชาติไทย ที่ช่วยแพทย์ตรวจจับรอยโรคจากภาพถ่ายแมมโมแกรมอย่าง ‘Inspectra MMG’ เข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดช่วยแพทย์อ่านภาพ โดยประสิทธิภาพของ AI ในปัจจุบันสามารถช่วยตรวจจับรอยโรคเล็ก ๆ ที่อาจมองเห็นได้ยากโดยสายตามนุษย์ เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับแพทย์และผู้ป่วยได้ว่าหากมีความผิดปกติ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
ที่มา
• Breast Cancer Facts and Figures
• What Is Breast Cancer Screening?
• ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล พ.ศ 2563
• มะเร็งเต้านม “เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง”
• แมมโมแกรม ตรวจเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย