จะดีอย่างไรถ้าแพทย์และ AI ทำงานร่วมกัน

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทางการแพทย์กลายเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะในปัจจุบันการผสมผสานการทำงานระหว่างมนุษย์และ AI ทางการแพทย์นั้นถูกผนึกรวมไว้เข้าด้วยกันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ถูกนำมาใช้ในหลายฟังก์ชัน อาทิเช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ การบริหารจัดการข้อมูล การค้นพบและการพัฒนายา การปรับปรุงการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยหรือแม้แต่การใช้ AI วินิจฉัยโรค และยังมีอีกหลายอย่างที่ AI ทางการแพทย์สามารถเติมเต็มการทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดของสถานพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำงานอย่างฉลาดและรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์เริ่มทำให้หลายคนกังวลว่ามนุษย์จะถูกแทนที่ด้วย AI แต่จากข้อมูลของ MIT Technology Review Insights และ GE Healthcare พบว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเกือบครึ่งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษกล่าวว่าการที่ AI ทำงานร่วมกับแพทย์จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ในเชิงบวกให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วย โดย AI ช่วยให้แพทย์สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยและให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ จากการสำรวจนี้ทำให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้ว การที่ AI ทำงานร่วมกับแพทย์ต่างหากที่จะช่วยเกื้อกูลการทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ในด้านคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านคนให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

 

ผลลัพธ์แห่งการผนึกกำลังเมื่อ AI ทำงานร่วมกับแพทย์ AI วินิจฉัยโรคช่วยให้แพทย์ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

มีการศึกษาหลายชิ้นที่ค้นพบว่า AI ทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างจากการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medical Internet Research พบว่าอัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึกใน AI ทางการแพทย์สามารถระบุมะเร็งผิวหนังได้ โดยทั่วไป AI จะสามารถวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยได้ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากบันทึกด้านสุขภาพและภาพการวินิจฉัยจาก X-rays โดย AI สามารถค้นพบรูปแบบที่อาจบ่งบอกถึงการมีอยู่ของโรค สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้แพทย์ทำงานได้ง่ายและเร็วขึ้น เพราะการที่ AI วินิจฉัยโรคได้จะช่วยเร่งกระบวนการวินิจฉัย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาวะที่วินิจฉัยได้ยาก นอกจากนี้การที่ AI ทำงานร่วมกับแพทย์ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษาให้กับผู้ป่วยและสามารถมอบการรักษาให้กับผู้ป่วยได้ทันท่วงที ยิ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคร้ายแรง โอกาสที่ผู้ป่วยจะรอดชีวิตก็จะสูงขึ้นด้วย

 

ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ช่วยจัดการกับข้อมูลมหาศาล

ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่แพทย์และสถานพยาบาลมักจะต้องเผชิญก็คือ เรื่องของการใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ลองนึกถึงข้อมูลจำนวนมากจากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) เซ็นเซอร์ และอุปกรณ์สวมใส่ที่บันทึกข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย การใช้ระบบแบบดั้งเดิมในการจัดเก็บบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้อาจจะต้องเสียทรัพยากรและเสียเวลาจำนวนมาก ดังนั้นการใช้ AI ทางการแพทย์จะทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลทางคลินิกได้รวดเร็วกว่า และยังช่วยให้ตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ AI สามารถปลดล็อกความล่าช้าและอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม ตัวอย่างที่เปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนอาทิเช่น IBM ได้ร่วมมือกับศูนย์มะเร็ง Memorial Sloan-Kettering (MSK) ในนิวยอร์กใช้ IBM Watson for Oncology เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์กว่า 290 ฉบับ ตำราทางการแพทย์มากกว่า 200 เล่ม และข้อมูลอื่นๆ กว่า 12 ล้านหน้า เพื่อค้นหาวิธีการรักษามะเร็งและข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสามารถแบบนี้ยากที่มนุษย์เราจะทำได้รวดเร็วเท่า แต่สิ่งสำคัญก็คือ การใช้ประโยชน์จาก AI ยังคงจะต้องต่อยอดและนำไปใช้งานอย่างถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่การรักษาผู้ป่วย

 

ช่วยแบ่งเบาภาระงานรูทีน

ผลการศึกษาจาก Annals of Internal Medicine พบว่าแพทย์ใช้เวลามากกว่า 2 ใน3 ของเวลาทำงานในการจัดการและสะสางงานด้านเอกสาร ซึ่งหากวิเคราะห์กันดีๆ แล้ว เวลาเหล่านี้สามารถนำไปใช้รักษาคนไข้หรือทำงานในด้านอื่นๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงงานเอกสารและงานรูทีนยังเป็นสิ่งแพทย์ในหลายองค์กรต้องรับผิดชอบและจัดการให้ทันตามกำหนด ซึ่งหากมีการนำ AI ทางการแพทย์มาช่วยจัดการก็จะช่วยลดเวลาที่เสียไปกับงานพื้นฐานรูทีนได้ ซึ่งถือเป็นการช่วยลดภาระของแพทย์ได้โดยตรง การทำงานของอัลกอริทึม AI จะช่วยในการจัดระเบียบบันทึกของแพทย์และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การแจ้งเตือนการใช้ยาและการประเมินอาการ โดยตามรายงานของ Medscape พบว่า โดยเฉลี่ยแพทย์ใช้เวลาประมาณ 13-16 นาทีกับผู้ป่วยแต่ละราย แต่การใช้ AI มาช่วยจัดการงานต่างๆ เหล่านี้จะทำให้แพทย์สามารถอุทิศเวลาให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดในการทำงานให้กับแพทย์ได้เช่นกัน

ไม่ว่า AI วินิจฉัยโรคจะทำงานได้รวดเร็วสักเพียงใด แต่สิ่งสำคัญก็คือ เทคโนโลยีเหล่านี้ใช้เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระแพทย์ และไม่สามารถมาแทนที่แพทย์ได้ เนื่องจากปฏิบัติการทางการแพทย์ การรักษา การดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วย การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจต่างก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า หน้าที่เหล่านี้ยังต้องกระทำโดยมนุษย์เท่านั้น ดังนั้นการทำงานร่วมกันระหว่าง AI และแพทย์จึงถือเป็นการส่งเสริมกระบวนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยได้ดีที่สุด

 

ที่มา

Artificial Intelligence for Skin Cancer Detection: Scoping Review

Good Thinking: AI Can Help Doctors Spend More Time With Their Patients

The AI effect: How artificial intelligence is making health care more human

Facebook
Twitter
LinkedIn

Related Resources

เพอเซ็ปทราได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศูนย์ถันยรักษ์ พัฒนา "Inspectra MMG" ระบบ AI วิเคราะห์ภาพแมมโมแกรมที่ออกแบบมาเพื่อคนเอเชียโดยเฉพาะ
Inspectra MMG receives Thai FDA approval for AI-powered breast cancer detection technology, offering enhanced accuracy for dense breast tissue analysis and supporting earlier diagnosis in Asian populations
ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยเบาหวาน และกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น Perceptra ร่วมกับ Google ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพตาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทย