AI กับบทบาททางการแพทย์
ข้อมูลของบริษัท McKinsey ที่ร่วมกับ EIT Health ของสหภาพยุโรปพบว่าเทคโนโลยี AI มีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของการบริการทางด้านสุขภาพได้ แต่ทั้งนี้เนื่องจาก AI เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ การขยับขยายจึงอาจจะใช้เวลาอยู่พอสมควร ส่วนประเทศไทยนั้น เราอาจจะยังไม่ค่อยเห็น AI กับบทบาททางการแพทย์มากเหมือนเช่นในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร แต่หากลองหาข้อมูลแบบเจาะลึกจะพบว่าเทคโนโลยี AI กำลังถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ในหลายองค์กรทั่วประเทศ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ปฏิบัติงานอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า “การใช้ AI นั้นจะส่งผลกระทบในด้านจริยธรรมหรือไม่” เพราะเรื่องของการรักษาคนไข้นั้นถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของคนไข้โดยตรง แม้แต่แพทย์เองก็ยังต้องมีจรรยาบรรณแพทย์ในการปฏิบัติงาน แล้ว AI ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์นั้นจะใช้มาตรฐานอะไรมาวัด หรือจะกำหนดให้ถูกหลักตามทำนองคลองธรรมได้อย่างไร
AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์นั้นสร้างขึ้นจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ ให้มีพัฒนาการทางด้านความคิดและมีความสามารถในการวิเคราะห์ที่คล้ายกับสมองมนุษย์ โดยที่ AI จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปภาพ การทดลองวิจัยทางคลินิก และการอ้างสิทธิ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ AI ยังสามารถระบุข้อมูลเชิงลึกที่มักตรวจเจอได้ยากอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ AI จึงสามารถเพิ่มผลลัพธ์ทางการรักษาและดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในอีกมุมหนึ่ง AI ก็ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้เช่นกันหากนำไปใช้อย่างเหมาะสม ดังเช่นจากข้อมูลของ Mobi Health News ได้อธิบายเอาไว้ว่า การประมวลผลและการเรียนรู้เชิงลึกของ AI จะทำให้เราค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
จริยธรรมของ AI สำหรับใช้ทางการแพทย์
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า AI เริ่มกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากข่าวต่างๆ ที่เราพบได้อยู่ทุกวัน นอกจากนี้องค์กรที่ผลิตเทคโนโลยีระดับโลกต่างๆ อย่าง Microsoft, Facebook, Twitter, Google ต่างก็หันมาตื่นตัวในเรื่องของจริยธรรมในการใช้งานเทคโนโลยี AI ด้วยเช่นกัน
จริยธรรมถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความอ่อนไหวสูงมากไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็ตาม สำหรับด้านการแพทย์นั้น เทคโนโลยี AI ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายส่วนงาน ซึ่งหากมองในมุมของจริยธรรม AI สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ก็คือ “การปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการแพทย์และหลักจริยธรรมพื้นฐาน”
ความยินยอมทางการแพทย์จากคนไข้
ทุกการตรวจและการใช้ข้อมูลของคนไข้จะต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้เจ้าของข้อมูลนั้น ๆ
ความน่าเชื่อถือและความถูกต้อง
ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกรวบรวมนั้นเวลานำไปใช้งานหรือขยายผลจะมีความน่าเชื่อถือและถูกต้องชัดเจนขนาดไหน เพราะการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องของจริยธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากบางเรื่องถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนควรถูกคัดกรองอย่างโปร่งใสโดยปราศจากอคติ บุคคลใดบ้างที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ การพิจารณาโดยปราศจากอคติในการเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ เพศ หรือปัจจัยอื่นๆ ซึ่งส่งผลในเชิงจริยธรรมและมนุษยธรรม
ดังนั้นยิ่ง AI ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้นเท่าไหร่ ความเข้าใจและความโปร่งใสจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่ว่าผู้ใช้งานจะเป็นใคร เป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือเป็นคนไข้เอง ต่างก็อาจจะได้รับผลกระทบทางด้านจริยธรรมได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทาง Perceptra จึงใส่ใจในทุกรายละเอียดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน
แนวทางในการใช้ AI ให้ตรงกับเป้าหมายทางจริยธรรมการแพทย์
เรื่องของจริยธรรมการใช้ AI สำหรับทางการแพทย์นั้นได้กลายเป็นเรื่องที่องค์กรระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จนถึงขั้นออกแนวทางในการปฏิบัติ 6 ประการ เพื่อให้การใช้ AI สอดคล้องกับจริยธรรมทางการแพทย์ นอกจากนี้แนวทางของ WHO ยังเป็นหลักสากล ซึ่งช่วยในการสร้างรากฐานสำหรับองค์กรทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม AI ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐบาล นักพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมไปถึงหน่วยงานที่คอยกำกับและดูแลการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยหลักการ 6 ประการที่สำคัญมีดังนี้
1. ความยินยอมส่วนบุคคล
คนไข้ควรได้รับการดูแลและควรเป็นผู้ตัดสินใจตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของตนเอง ส่วนแพทย์นั้นก็ยังเป็นบุคคลหลักที่ให้คำแนะนำและให้การรักษาตามแนวทางที่เหมาะสม ดังนั้น AI อาจจะเป็นเพียงส่วนประกอบในการให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ควรระวังในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลส่วนตัว การตัดสินใจของคนไข้ เป็นต้น
2. ส่งเสริมความปลอดภัย
เครื่องมือ AI ควรได้รับการตรวจสอบและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพของการทำงาน ความถูกต้อง และความปลอดภัยสำหรับทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานจะถูกต้องตามหลักจริยธรรมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
3. ความโปร่งใส
เครื่องมือ AI ที่ใช้งานควรมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้จากทั้งผู้ใช้งานและหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านเทคโนโลยี
4. ความรับผิดชอบ
เทคโนโลยี AI ที่เลือกใช้สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดปัญหาต่อผู้ใช้งานหรือผลกระทบต่อผู้ป่วย โดยควรมีกลไกในการตรวจสอบว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบและใช้หลักปฏิบัติอะไรในการรองรับ
5. ความเสมอภาค
ระบบที่นำไปใช้งานควรรองรับหลายภาษาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยต้องปราศจากอคติ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เพศ
6. ความยั่งยืน
ระบบที่ผลิตออกมาควรจะสามารถอัปเดตและปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ
เลือกโซลูชั่น AI ให้สอดคล้องกับจริยธรรมทางการแพทย์
แม้ว่าทางองค์การอนามัยโลกจะได้ออกหลักการปฏิบัติมาไว้เป็นแนวทางแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญอีกส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ให้ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้นก็คือ แนวทางของผู้ผลิตโซลูชั่นทางด้าน AI โดยหากองค์กรของคุณกำลังมองหาผู้ให้บริการหรือผู้ผลิตโซลูชั่น AI ทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรม ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงวิธีการทำงาน แนวคิด และนโยบายการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการ ที่จะช่วยให้การทำงานของแพทย์และบุคลากรหน้างานมีความคล่องตัวมากขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
โครงสร้างพื้นฐานขององค์กรและจริยธรรม AI
โดยหลักแล้วผู้ให้บริการควรจะมีส่วนประกอบสำคัญอย่างเช่น ฝ่ายบริหาร คณะกรรมการ หรือหน่วยงานกลางที่คอยกำกับดูแลในเรื่องสำคัญที่ครอบคลุมทางด้านจริยธรรม AI อาทิเช่น การกำหนดนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ข้อกำหนดการใช้งาน หลักจริยธรรมสำหรับปฏิบัติ หลักกฎหมาย เป็นต้น
ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม
การเลือกใช้ผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอุตสาหกรรมนั้นๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากขาดความเชี่ยวชาญหรือขาดพื้นฐานความเข้าใจทางด้าน Health Care ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ระบบ รวมไปถึงอาจจะมีผลกระทบต่อมาตรฐานทางด้านการตัดสินใจตามหลักจริยธรรมได้
ข้อมูลคุณภาพสูงที่ผ่านการกลั่นกรอง
จริยธรรมทางการแพทย์นั้นอยู่คู่กับการแพทย์มาอย่างยาวนาน ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่แนวทางต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น AI ที่นำมาใช้ควรจะให้มุมมองใหม่ๆ ตามแนวทางที่เป็นปัจจุบันและทันสมัยที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี แต่ก็ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าโซลูชั่นเหล่านั้น ได้ผ่านการรับรองจากหน่วยงานกลางและมีการคัดกรองข้อมูลมาอย่างละเอียดแล้วหรือไม่
ประสิทธิภาพของโซลูชั่น AI
บางครั้ง AI ก็มีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจพอสมควร ดังนั้นโซลูชั่นที่ดีจะต้องพร้อมและเหมาะสมกับหน้างาน มีความรวดเร็วและมีคุณภาพที่เชื่อถือได้ รวมถึงยังสามารถที่จะต่อยอดในการพัฒนาปรับแต่งตามความเหมาะสมได้
สิ่งสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนองค์กรและการทำงานก็คือ ผู้ปฏิบัติงาน เพราะแม้ว่า AI จะเป็นสิ่งใหม่ แต่ถ้าหากผู้บริหารในองค์กรช่วยให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโซลูชั่น AI ว่ามีความสำคัญและมีประโยชน์มากขนาดไหน ข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้ก็จะทำให้ผู้ใช้งานเกิดความตระหนักรู้และสามารถทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การอธิบายให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นว่า AI นั้นไม่ได้มาทดแทนบุคคล แต่มาเพื่อช่วยให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งการให้การอบรมหรือเทรนนิ่งการใช้งานทั้งทางด้านเทคนิคและจริยธรรมก็ถือเป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ ด้วยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจในการใช้งาน AI ให้เหมาะสมกับจริยธรรมทางการแพทย์และเสริมความคล่องตัวในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา
• A Practical Guide to Building Ethical AI
• Contributed: Top 10 Use Cases for AI in Healthcare
• Ethical and legal challenges of artificial intelligence-driven healthcare
• Ethical Dimensions of Using Artificial Intelligence in Health Care
• Ethics and governance of artificial intelligence for health
• Transforming healthcare with AI: The impact on the workforce and organizations
• นักวิชาการเตือนปี 65 ไทยเตรียมพบสึนามิสังคมสูงอายุ พร้อมแนะรัฐและประชาชนเร่งปรับตัว