การใช้ AI เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ช่วยให้แพทย์สามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น โดย AI ทางการแพทย์นั้นถูกออกแบบมาหลากหลายแขนงเฉกเช่นเดียวกับแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ซึ่งการใช้ AI ช่วยวิเคราะห์นั้นถือเป็นการเสริมกำลังให้แก่ทีมแพทย์และช่วยยกระดับในการรักษาให้กับผู้ป่วย ดังนั้นหากเลือกใช้ AI ให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งาน AI ก็จะเป็นเหมือนเครื่องมืออันทรงพลังที่แพทย์สามารถนำมาใช้ช่วยในการค้นหาแนวทางรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยได้ ดังนั้นลองมาดูกันว่า AI ทางการแพทย์มีอะไรบ้าง

AI วินิจฉัยโรคกับชีวิตประจำวัน
การใช้ AI วินิจฉัยโรคทางการแพทย์สามารถทำได้ตั้งแต่ในระดับเบื้องต้นไปจนถึงระดับที่ซับซ้อน แต่ AI ทางการแพทย์ไม่จำเป็นจะต้องถูกใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น เพราะบริษัทระดับโลก ต่างก็เริ่มออกอุปกรณ์ด้านสุขภาพที่เราสามารถสวมใส่ติดตัวได้ตลอดเวลา อาทิเช่น Smartwatch หรือ Heart Rate Monitor ซึ่งทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่จะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ FitBit, Garmin หรือ Apple Watch ซึ่งคุ้นเคยกันดี อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยบันทึกข้อมูลทางสุขภาพได้ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การดื่มน้ำในแต่ละวัน การพักผ่อน การออกกำลังกาย ไปจนถึงระดับความดันโลหิตและชีพจร นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่กำลังรุดหน้า ทำให้มีความพยายามผสานการทำงานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อคาดการณ์อาการของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยป้องกันและดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที
AI กับการวินิจฉัยระหว่างผ่าตัด
ตามรายงานในวารสาร Nature Medicine พบว่านอกจากการวินิจฉัยโรคและอาการโดยทั่วไปแล้ว แพทย์ยังสามารถใช้ AI ทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อในระหว่างผ่าตัดผู้ป่วยได้ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผ่าตัดสมองและการรักษาอย่างต่อเนื่องได้อย่างน่าสนใจ โดยหากเปรียบเทียบกับวิธีการดั้งเดิม ซึ่งต้องส่งเนื้อเยื่อไปที่ห้องแล็บ ผ่านกระบวนการแช่แข็งและย้อมสี จากนั้นตรวจสอบผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 20 ถึง 30 นาทีหรืออาจจะนานกว่านั้น เทคนิคใหม่ที่ใช้ AI ด้านสุขภาพ หรือปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์เข้าช่วยนั้นใช้เวลาเพียง 2 นาทีครึ่ง นอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาการทำงานแล้ว AI ยังสามารถตรวจจับรายละเอียดได้ในแบบที่วิธีเดิมๆ ทำได้ยาก เช่น การตรวจการแพร่กระจายของเนื้องอกไปตามเส้นใยประสาท

AI วินิจฉัยโรคและ AI ทางการแพทย์มีอะไรบ้าง
AI หรือปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ได้ถูกพัฒนาความสามารถในด้านการวินิจฉัยและการวิเคราะห์โรค รวมถึงยังสามารถช่วยในการวิเคราะห์ขั้นตอนการรักษาดูแลและการใช้ยาได้อย่างดีอีกด้วย โดยข้อมูลจาก Nature Communications โดย ดร. Jonathan Richens ได้ชี้แจงไว้ว่า AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล และให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ยังช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาถึงผลข้างเคียงและความน่าจะเป็นที่เกิดขึ้นได้ โดย AI สามารถคาดคะเนได้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการนี้หรือไม่หากเป็นโรคอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า AI สามารถแยกแยะสาเหตุและความแตกต่างของโรคและอาการได้ ประสิทธิผลเหล่านี้ทำให้ AI ได้คะแนนจากการทดสอบมากกว่า 70% เลยทีเดียว ในปัจจุบันการศึกษาและการพัฒนา AI ในโรคต่างๆ ค่อนข้างรุดหน้า ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและเป็นแนวทางที่อาจจะนำมาใช้ได้ในอนาคตอันใกล้

AI กับการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
แม้ว่าผู้คนจะสงสัยว่า AI ทางการแพทย์มีอะไรบ้าง แต่โรคสำคัญอย่าง ‘มะเร็ง’ มักจะเป็นโรคที่ผู้คนให้ความสนใจ ซึ่ง AI ด้านสุขภาพก็มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจทางด้านนี้ โดยจากการร่วมมือระหว่างทีมงานจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ในเรื่องการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์เพื่อแยกแยะรอยโรคผิวหนังที่เป็นอันตรายออกจากโรคที่ไม่ร้ายแรง โดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายมากกว่า 100,000 ภาพ จากการทดสอบพบว่า AI สามารถวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังจากภาพถ่ายของผิวหนังผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำสูงถึง 95% ในขณะที่การวินิจฉัยจากมนุษย์ทำได้เพียง 87% ล่าสุด Google จึงได้พัฒนาอัลกอริทึม “LYNA” (Lymph Node Assistant) ซึ่งเป็น AI ที่สามารถวิเคราะห์ผลการตรวจชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองและวินิจฉัยมะเร็งระยะลุกลามได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถวิเคราะห์โรคได้แม่นยำถึง 99%

AI กับการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยา
นักวิจัยจาก Harvard Medical School ได้สร้างอัลกอริทึมที่สามารถตรวจจับและวินิจฉัยเนื้องอก โดยอัลกอริทึมเหล่านี้สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยเนื้องอกประเภทต่างๆ ได้ โดยนักวิจัยได้ใส่คำอธิบายและแยกระหว่างส่วนที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็งเพื่อให้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ โดยผลจากการศึกษาพบว่า AI ด้านสุขภาพมีความแม่นยำในอัตราสูงถึง 92% แต่ทั้งนี้เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่านั้นถ้าหากมนุษย์และ AI ทำงานร่วมกัน โดยพบว่าหากทั้งสองฝ่ายผนึกกำลังกันจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมด้วยอัตราความสำเร็จสูงถึง 99.5%

AI กับการวินิจฉัยโรคปอด
จากการวิจัยของ European Respiratory Society International Congress ได้มีการศึกษาโดยการสร้างอัลกอริทึมเพื่อช่วยให้ AI สามารถวิเคราะห์การทดสอบการทำงานของปอดที่อาจจะตรวจพบได้ยาก โดยได้ทำการศึกษาร่วมกับแพทย์ระบบทางเดินหายใจ 120 คนจากโรงพยาบาล 16 แห่ง และใช้ประวัติผู้ป่วยเดิมจำนวน 1,430 ราย จากโรงพยาบาลในประเทศเบลเยียม 33 แห่งเป็นข้อมูลพื้นฐาน ผลการศึกษาพบว่า AI สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากถึง 2 เท่า ซึ่งทำให้เห็นว่าการวิเคราะห์ของ AI สามารถนำไปแปลผลและใช้งานเป็นความเห็นที่สองทางการแพทย์ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา
• AI. Comes to the Operating Room
• Artificial intelligence approach improves accuracy in breast cancer diagnosis
• Artificial intelligence improves diagnosis of lung disease: study
• Artificial Intelligence in Medical Diagnosis
• Computer learns to detect skin cancer more accurately than doctors
• Deployment of AI in smartwatches: Expert decodes trends to lookout in 2022